อาการหูหนวก เกิดจากอะไร

หูหนวก (Deafness) หรือสูญเสียการได้ยิน เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความสามารถในการได้ยินลดลงหรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมด โดยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในภายหลัง โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่ เช่น ประสาทหูเสื่อมเพราะอายุมากขึ้น กรรมพันธุ์ การได้รับบาดเจ็บ หรือการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน

นอกจากนั้นหูหนวกอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์ได้ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรือสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหันกับหูข้างใดข้างหนึ่งหรือพร้อมกันทั้ง   2 ข้าง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะมีโอกาสที่จะรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้

อาการของหูหนวก

อาการของหูหนวกมักจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวตั้งแต่เริ่มต้น หรืออาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน ซึ่งการเอาใจใส่สุขภาพหรือคอยสังเกตอาการของตนเอง จะช่วยให้หาสาเหตุและรับการรักษาจากแพทย์ได้ทันท่วงที 

สาเหตุของหูหนวก 

การสูญเสียการได้ยินมีสาเหตุมาจากการเสียความสามารถในการนำเสียงไปยังสมอง โดยการสูญเสียการได้ยินแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. การหูหนวกจากการนำเสียงบกพร่องเป็นสาเหตุจากเสียงไม่สามารถผ่านจากหูชั้นนอกไปสู่หูชั้นในได้ตามปกติ โดยมีสาเหตุ ได้แก่ 

  • การติดเชื้อในหู 
  • ขี้หูปิดกั้นในหู น้ำเข้าหู สิ่งแปลกปลอมในหู
  • แก้วหูทะลุ มีการฉีดขาดหรือเป็นหลุมที่แก้วหู
  • เกิดความเสียหายกับกระดูกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน แก้วหูยุบตัว หรือภาวะโคเลสเทียโตมาร์ 
  • โรคหินปูนเกาะกระดูกหู มีหินปูนเกิดขึ้นผิดปกติที่หูชั้นกลางทำให้เสียงไม่สามารถผ่านจากหูชั้นกลางไปยังหูชั้นในได้ตามปกติ
  • เกิดการบวมรอบ ๆ ท่อยูสเตเชียน ซึ่งมีสาเหตุจากการผ่าตัดขากรรไกร หรือการใช้รังสีรักษามะเร็งโพรงจมูก
  • การทำงานที่ผิดปกติของท่อยูสเตเชียน ซึ่งทำหน้าที่ปรับอากาศในช่องหูชั้นกลาง โดยต่อเชื่อมกับช่องคอหอย

2. การหูหนวกที่โสตประสาท เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหูชั้นในหรือประสาทการได้ยิน โดยมีสาเหตุ ได้แก่ 

  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • เกิดความบกพร่องของการได้ยินตั้งแต่กำเนิด หรือกรรมพันธฺ์
  • ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่หูหรือศีรษะ 
  • ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง 
  • โรคมีเนีย 
  • เนื้องอกของเส้นประสาทหู
  • การติดเชื้อที่เส้นประสาทการได้ยิน เช่น คางทูม หรือหัดเยอรมัน
  • เยื่อหุ้มสมองหรือสมองอักเสบ
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • โรคหลอดเลือดในสมองแตก ตีบ หรือตัน 
  • ภาวะแพ้ภูมิตนเอง
  • การรักษาหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้รังสีบำบัดบริเวณโพรงจมูก ยาเคมีบำบัด หรือยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแอสไพริน และยาอะมิโนไกลโคไซด์ เป็นต้น
  •  ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน

3. การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม   เป็นกรณีที่ทั้ง2สาเหตุข้างต้นเกิดขึ้นพร้อมกันคือเกิดการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง ร่วมกับการสูญเสียความสามารถของหูชั้นในและระบบประสาทการได้ยิน

Marilyn Ramos

Marilyn Ramos